ข้อมูลทั่วไป
ชื่อวัด
วัดเขมาภิรตาราม
สถานะ
พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร นิกาย : ธรรมยุติกนิกาย
ที่ตั้ง
เลขที่ 74 หมู่ที่ 8 ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
เวลา เปิด-ปิด
8:00-17:00
ที่ดินตั้งวัด
เนื้อที่ 26 ไร่ 9 ตารางวา
เวลา เปิด-ปิด
8:00-17:00
ค่าเข้าชม
ไม่มีค่าใช้จ่าย
การเดินทางเข้าถึง
ทางบก
- รถส่วนตัว จากสะพานพระราม 7 ใช้ถนนพิบูลสงคราม มุ่งหน้า จ.นนทบุรี วัดเขมาภิรตาราม จะอยู่ทางซ้ายมือ สามารถนำรถยนต์เข้าไปจอดบริเวณวัดได้
- รถสาธารณะ มีรถโดยสารประจำทางสาย 30, 32, 65, 97, 117, 203
ทางน้ำ
- เรือด่วนเจ้าพระยา ธงสีส้ม ขึ้นท่าเรือวัดเขมาฯ
ช่องทางติดต่อวัด (website, Line, Tel)
https://www.facebook.com/kittikittiko
https://www.watkhemaphirataram.com
Tel : โทร 02 526 4813
สิ่งอำนวยความสะดวก
ห้องน้ำ ช/ญ : | ![]() |
ห้องน้ำคนพิการ : | ![]() |
ร้านอาหารและเครื่องดื่ม : | ![]() |
ตู้ ATM : | ![]() |
Internet Wifi : | ![]() |
พื้นที่จอดรถ : | ![]() |
ที่สูบบุหรี่ : | ![]() |
ทางลาดสำหรับรถเข็นคนพิการ : | ![]() |
กล้องวงจรปิด / รปภ. : | ![]() |
การนำสัตว์เลี้ยงเข้า : | อนุญาต เฉพาะพื้นที่กลางแจ้ง |
ที่เช่าวัตถุบูชา : | ![]() |
กิจกรรมสำคัญ
งานประจำปี
- งานปิดทองนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ (วันมาฆบูชา)
- งานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายอดีตเจ้าอาวาสและบูรพาจารย์
- งานเทศกาลสารทเดือนสิบวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี
บริการของวัด
- บรรพชาสามเณร/อุปสมบท
- ทศน์ธรรมะ
- งานสวดพระอภิธรรมศพ
- งานวิชาการส่งเสริมเยาวชนในทางพระพุทธศาสนา
- งานทำบุญประจำวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
วัดเขมาภิรตาราม






152643


ประวัติความเป็นมา






วัดเขมาภิรตาราม เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อว่า วันเขมา หรือวัดเข็นมา มีอายุมากกว่า 600 ปี เป็นวัดหลวงในสมัยอยุธยาราวปี พ.ศ. 1893 จากบันทึกที่ว่า ในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา วัดเขมานี้มีอยู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานว่าเป็นวัดที่ชาวเขมร มาสร้างไว้ และเอานามเขมรมาตั้งชื่อ คำว่า เขมาหรือเขมะหรือเขมะรัฐ แปลว่า เขมรนั่นเอง พระเจ้าอู่ทอง (พระรามาธิบดีที่ 1) ทรงปฏิสังขรณ์ จึงเป็นที่สำคัญขึ้นคือเป็นพระอารามหลวงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ช่วงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี อัครมเหสี ว่าวัดเขมาเป็นวัดใหญ่ ทรงขอมาอยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ทรงปฏิสังขรณ์ ให้ข้าราชบริพารในกรมขุดรากฐานพระอุโบสถขยายออกไปให้กว้างและถมพื้นพระอุโบสถให้สูงขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและกรมพระราชวังบวรฯ รับสั่งให้ก่อพระประธานสวมองค์เก่าบูรณะพระพุทธรูปทั้งหมดก่อกำแพงสร้างศาลาการเปรียญเรียบร้อยแล้วบำเพ็ญกุศลสมโภช เมื่อปีชวด สัมฤทธิศก 1190 (พ.ศ.2371) เมื่อทรงปฏิสังขรณ์บำเพ็ญพระกุศลเป็นอันมากเรียบร้อยแล้วให้ฉลองสมโภช เมื่อ พ.ศ.2371 และขนานนามว่า “วัดเขมา”
ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 ปีกุน ตรีศก 1213 (พ.ศ.2394) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้ง ทรงรับสั่งให้ปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม ขุดคูรอบวัด สร้างพระอสีติมหาสาวกล้อมพระประธาน และในวันพุธ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ ตรงกับวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2406 ได้เสด็จฉลองวัด และพระราชทานสร้อยต่อท้ายชื่อวัดว่า ภิรตาราม และทรงสร้างพระมหาเจดีย์ ศาลาการเปรียญ ปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมเพิ่มเติมส่วนต่าง ๆ ภายในบริเวณวัดจนบริบูรณ์มาถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิสังขรณ์และโปรดให้รื้อพระที่นั่งมูลมณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง ไปสร้างโรงเรียนของวัดนี้ เมื่อสิ้นรัชกาลก็ขาดตอนลง การบูรณะปฏิสังขรณ์ ทำตามกำลังความสามารถของบรรดาเจ้าอาวาส และพุทธศาสนิกชนทั่วไป
สิ่งสำคัญ
พระอุโบสถ ได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาลดสามชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันสลักเป็นภาพพระนารายณ์ทรงสุบรรณเด่นสง่างามมาก บานประตูหน้าต่างแกะสลักลวดลายฝีมือชั้นเยี่ยม เฉพาะบานหน้าต่างประดับลวดลายปูนปั้นรูป 12 นักษัตร กว้าง 17.30 เมตร ยาว 35 เมตร
พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้นลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 2.90 เมตร สูง 4 เมตร สร้างในปีพุทธศักราช 2371 เดิมพระประธานมีขนาดเล็ก แต่เมื่อมีการขยายพระอุโบสถให้ใหญ่ขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปั้นพระประธานองค์ที่เห็นในปัจจุบัน ครอบพระประธานองค์เก่าที่เป็นทองคำ มีพระอัครสาวกซ้ายขวา และพระอสีติมหาสาวกล้อมรอบ
รูปปั้นพระอสีติมหาสาวก จำนวน 80 องค์ ประดิษฐานอยู่เบื้องหน้าพระประธาน ภายในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าพระอุโบสถวัดเขมาฯ มีขนาดใหญ่ มีพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานอยู่องค์เดียวและยังพื้นที่เหลืออีกพอที่จะสร้างพระอสีติมหาสาวกได้ จึงมีรับสั่งให้ช่างปั้นพระอสีติฯ นั่งล้อมรอบพระประธาน แต่ละองค์จะสลักปรากฏอยู่ที่ฐานอาสนะ ซึ่งในประเทศไทยจะมีพระอสีติฯ อยู่แค่ 2 วัดเท่านั้น คือวัดสุทัศนเทพวนาราม และวัดเขมาภิรตาราม
พระอินทร์แปลง หน้าตักกว้าง 74 เซนติเมตร สูง 109 เซนติเมตร ในปี พ.ศ. 2401 ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้อัญเชิญพระอินทร์แปลง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์จากพระราชวังจันทรเกษมพระนครศรีอยุธยา ลงมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดเขมาฯ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นแบบสุโขทัย ปัจจุบันก็ยังคงประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ หน้าพระประธาน และพระอสีติมหาสาวก
จิตรกรรมฝาผนัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขรัวอินโข่ง จิตรกรชื่อดังในสมัยนั้น วาดภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถ เป็นจิตรกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะไทย จีน และฝรั่ง ซึ่งมีความงดงามมาก
พระศรีอาริย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ประดิษฐานไว้ในซุ้มจรนำด้านหลังพระประธาน นอกพระอุโบสถ โดยหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก เพื่อแก้เคล็ดความเชื่อคติโบราณที่ไม่นิยมสร้างพระประธานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก พระศรีอาริย์มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปหมดทุกส่วน ขาดแต่ไม่มีพระรัศมีบนพระเศียร ซึ่งการไม่มีพระรัศมีบนพระเศียรเช่นนี้ บางคนสันนิษฐานว่ารูปพระศรีอาริย์ ซึ่งจะอยู่รวมกับสาวกไม่ได้ ต้องประดิษฐานไว้ข้างนอก พระธรรมรัชมงคล (หลวงปู่จับ อุคฺคเสโน) อดีตเจ้าอาวาส เข้าใจว่าข้อสันนิษฐานอันนี้ผิด เพราะแบบช่างไทยไม่ทำพระศรีอาริย์เป็นรูปพระ ต้องทำเป็นรูปเทวดา เพราะถือกันว่า พระศรีอาริย์ ยังเสวยทิพย์อยู่บนสวรรค์ ยังไม่ได้เป็นพระ
พระวิหารน้อย เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง 4.60 เมตร ยาว 8.70 เมตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่มุมกำแพงด้านหน้าพระอุโบสถทั้ง 2 ฝั่ง
พระมหาเจดีย์ ลักษณะทรงระฆัง สูง 15 วา หรือประมาณ 30 เมตร อยู่บนฐานสูงสี่เหลี่ยม ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น มีเจดีย์องค์เล็กประดิษฐานอยู่บนฐานทั้ง 4 มุม ซึ่งเดิมสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ได้ทรงสร้างประดิษฐานไว้ทั้ง 4 มุมของพระอุโบสถ แต่หลังจากการก่อสร้างพระมหาเจดีย์เสร็จสิ้น จึงได้ชะลอเจดีย์ทั้ง 4 องค์มาตั้งประจำมุมทั้ง 4 ของเจดีย์องค์ใหญ่
ปริศนาธรรม เกี่ยวกับพระมหาเจดีย์ หากจะพิจารณาให้ลึกซึ้งเข้าไปจะพบว่าองค์พระมหาเจดีย์มีรูปแบบการก่อสร้างที่เฉพาะแบบจริงๆ ซึ่งพอจะไขปริศนารูปแบบการสร้างได้ดังนี้
- ฐานของพระมหาเจดีย์ มีลักษณะเป็นชั้น 3 ชั้น เปรียบได้กับ พระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) หรือพระไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
- ฐานของระฆังคว่ำ มีลักษณะ 8 เหลี่ยม 5 ชั้น เปรียบได้กับมรรคมีองค์ 8 (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ) และเบญจขันธ์ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
- ด้าน 4 เหลี่ยมรอบที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เปรียบได้กับ อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)
- ปล่องไฉน 20 ปล่อง (รวม 4 หัวข้อธรรมข้างต้น)
- ภายในมีช่องทางออก 8 ช่อง เปรียบได้กับ มรรคมีองค์ 8
- ภายนอกมีช่องทางเข้า 10 ช่อง เปรียบได้กับ กุศลกรรมบถ 10 (กายกรรม 3 เว้นฆ่าสัตว์ เว้นลักทรัพย์ เว้นประพฤติผิดในกาม, วจีกรรม 4 เว้นพูดเท็จ เว้นพูดส่อเสียด เว้นพูดคำหยาบ เว้นพูดเพ้อเจ้อ, มโนกรรม 3 ไม่โลภ ไม่พยาบาท เห็นชอบตามคลองธรรม)
ตำหนักแดง รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างเป็นตำหนักหมู่ใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 1 ในวังหลวง ถวายเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี ที่เรียกว่า ตำหนักแดง เพราะทาสีแดงนั่นเอง ต่อมาได้รื้อไปสร้างที่พระราชวังเดิม แล้วรื้อถวายเป็นกุฎีสงฆ์พระราชาคณะวัดโมลีโลก ล่าสุดย้ายมาปลูกที่วัดนี้ในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อเป็นกุฎีเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม แสดงว่าตำหนักแดงหลังนี้ถูกรื้อแล้วสร้างใหม่ถึง 3 ครั้งด้วยกัน ตำหนักแดงจึงเป็นตำหนักเก่าแก่โดยสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ทางวัดจึงต้องเปลี่ยนไม้ที่ผุพังเรื่อยมา บางช่วงเวลาถูกทิ้งไว้จนทรุดโทรมมาก ปัจจุบันได้รับการบูรณะใหม่ทั้งหลังแล้ว โดยเปลี่ยนจากเสาไม้เดิมเป็นเสาซีเมนต์ ใต้ถุนเดิมเป็นพื้นดินก็เป็นพื้นซีเมนต์แล้วปูกระเบื้องเคลือบ จึงทำให้ดูเป็นตำหนักสมัยใหม่ แต่ก็ยังรักษารูปทรงของตำหนักแดงไว้ได้ดีพอสมควร
พระที่นั่งมูลมณเฑียร อยู่ทางทิศเหนือของวัด และอยู่ในบริเวณโรงเรียนกลาโหมอุทิศ พระที่นั่งมูลมณเฑียรสร้างครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1 ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมา รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาปลูกที่วัดนี้ และทรงพระราชอุทิศให้เป็นโรงเรียน ลักษณะของพระที่นั่งเป็นอาคารทรงไทย มีเสารับหลังคาพาไลรอบอาคาร หลังคาทำเป็นสองตอน ประดับด้วยช่อฟ้าสวยงาม ตัวพระที่นั่งเสมือนตั้งอยู่กลางสระน้ำ เพราะมีน้ำซึมเข้ามา อาจเป็นเพราะบริเวณรอบ ๆ ถูกถมดินให้สูงขึ้นก็ได้ พระที่นั่งมูลมณเฑียรเคยใช้เป็นห้องสมุดของโรงเรียนกลาโหมอุทิศอยู่ระยะหนึ่ง ปัจจุบันทางโรงเรียนได้ย้ายห้องสมุดออกไปแล้ว และกรมศิลปากรได้ทำการบูรณะขึ้นใหม่
ศาลาการเปรียญ เดิมทีกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาศย์ ทรงโปรดให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2371 มีลักษณะเป็นไม้ ฝาผนังเป็นกระดาน ที่บริเวณหน้าพระอุโบสถ ครั้นมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อแล้วสร้างใหม่แบบตึกโบราณ ไว้ด้านขวาหน้าพระอุโบสถ
ศาลาจตุรมุข ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้น ได้ทรงประทับแรม ณ ศาลาแห่ง นี้ถึง 2 ครั้ง คือ ใน พ.ศ. 2447 และ พ.ศ. 2450
ข้อมูลอ้างอิง
- กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (2551). พระอารามหลวง เล่ม 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
- หวน พินธุพันธุ์. (2547). ประวัติศาสตร์เมืองนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.