ข้อมูลทั่วไป

ชื่อวัด
วัดบางไผ่ พระอารามหลวง

สถานะ
พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ นิกาย : มหานิกาย

ที่ตั้ง
เลขที่ 15 หมู่ที่ 3 ตำบลบางรักพัฒนา อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี

เวลา เปิด-ปิด
6:00-16:30

ที่ดินตั้งวัด
เนื้อที่ 38 ไร่ 85 ตารางวา

เวลา เปิด-ปิด
8:00-17:00

ค่าเข้าชม
ไม่มีค่าใช้จ่าย

การเดินทางเข้าถึง
ถนนบางกรวย-ไทรน้อย จากแยกบางพลู มุ่งหน้าตลาดบางบัวทอง ประมาณ 500 เมตร ทางเข้าวัดจะอยู่ทางซ้ายมือ

ช่องทางติดต่อวัด (website, Line, Tel)
Tel : 02-571-7672-76, 02-950-3024, 02-950-3506-7

สิ่งอำนวยความสะดวก

ห้องน้ำ ช/ญ :
ห้องน้ำคนพิการ :
ร้านอาหารและเครื่องดื่ม :
ตู้ ATM :
Internet Wifi :
พื้นที่จอดรถ :
ที่สูบบุหรี่ :
ทางลาดสำหรับรถเข็นคนพิการ :
กล้องวงจรปิด / รปภ. :
การนำสัตว์เลี้ยงเข้า : อนุญาต
เฉพาะพื้นที่กลางแจ้ง
ที่เช่าวัตถุบูชา :

กิจกรรมสำคัญ

  • โครงการปฏิบัติธรรมพัฒนาจิต (มีโครงการทุกเดือน)

บริการของวัด

  • บรรพชาสามเณร/อุปสมบท
  • งานสวดพระอภิธรรมศพ
  • งานทำบุญประจำวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
  • โครงการปฏิบัติธรรมพัฒนาจิต

วัดบางไผ่

4
3
6
2
5
1
previous arrow
next arrow

ประวัติความเป็นมา

วัดบางไผ่ เป็นวัดโบราณ ตามประวัติของกรมการศาสนาวัดบางไผ่เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2309 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2315 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 10 เมตร ยาว 17 เมตร ได้ผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2315 อุโบสถหลังใหม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2529 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 24.25 เมตร ยาว 42.50 เมตร โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานวางศิลาฤกษ์อุโบสถ และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ลักษณะสิ่งก่อสร้างภายในวัด เช่น พระอุโบสถหลังเก่า และพระวิหาร เป็นสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเป็นวัดร้าง ภายหลังพระครูสอน ได้มาจำพรรษาและบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่าง ๆ

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีตัดหวายลูกนิมิตพระอุโบสถ เมื่อวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 และได้พระราชทานนาม พระนามาภิไธย ม.ว.ก. ที่หน้าบันพระอุโบสถ หน้าบันศาลาลาย 4 หลัง และหน้าบันหอพระไตรปิฏก 4 ด้าน

ภายในวัดเป็นที่เก็บรักษาวัตถุสำคัญหลายชิ้น เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัย ศิลปะสมัยอู่ทอง รวมถึงมีสิ่งก่อสร้างสำคัญต่าง ๆ อาทิ พระอุโบสถหลังเก่า พระอุโบสถหลังใหม่ หอพระไตรปิฎกกลางน้ำทรงจตุรมุข โรงเรียนพระปริยัติธรรม และ ศาลาทีปังกรรัศมีโชติ ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

สิ่งสำคัญ

พระอุโบสถ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ซุ้มประตูและหน้าต่างประดับปูนปั้นลายไทย บานประตูและหน้าต่างเขียนลายไทย ปิดทองประดับกระจก ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเขียนเล่าเรื่องพระพุทธประวัติ พื้นปูด้วยหินอ่อน มีกำแพงแก้วและศาลารายล้อมรอบทั้งสี่มุม

พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระนามว่า พระพุทธศรีนพรัตนมุนี พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานผ้าทิพย์ประดับพระนามาภิไธย ม.ว.ก. หน้าพระประธาน

พระอุโบสถหลังเก่า เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมงคลศรีสุโขทัย หรือ หลวงพ่อทอง พระพุทธรูปปางมารวิชัยนั่งขัดสมาธิ องค์พระเป็นเนื้อทองคำทั้งองค์ สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก และที่เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนทั่วไป

หอพระไตรปิฎกกลางน้ำ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ลักษณะทรงไทยจตุรมุข หลังคาลด 3 ชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ยอดทรงปราสาท หน้าบันประดิษฐานพระนามาภิไธย ม.ว.ก. เป็นสถานที่สำหรับเก็บหนังสือพระไตรปิฎกและเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตจำลอง

พระวิหาร

พระประธาน ในพระวิหาร เป็นพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง ปางสมาธิ

พระปรางค์เจดีย์

โรงเรียนพระปริยัติธรรม มีรูปแบบสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

กำแพงวัด มีลักษณะคล้ายป้อมปราการทหารสมัยก่อน ทำให้สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัดนั้นมีความโอ่อ่า และสง่างาม สะท้อนให้เห็นถึงศิลปะของกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ศาลาทีปังกรรัศมีโชติ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมเพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่สนใจในเรื่องพุทธศาสนาและการปฏิบัติธรรมได้มาร่วมศึกษาเรียนรู้

ข้อมูลอ้างอิง

  • กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (2551). พระอารามหลวง เล่ม 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
  • หวน พินธุพันธุ์. (2547). ประวัติศาสตร์เมืองนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
  • https://travel.trueid.net/detail/Ox7EwXWAjDXa
  • https://cbtthailand.dasta.or.th/webapp/relattraction/content/3029/
  • https://thai.tourismthailand.org/Attraction/วัดบางไผ่