ข้อมูลทั่วไป
ชื่อวัด
วัดปรมัยยิกาวาส
สถานะ
พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร นิกาย : มหานิกาย
ที่ตั้ง
เลขที่ 51 หมู่ที่ 7 ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
เวลา เปิด-ปิด
08:00 - 17:00
ที่ดินตั้งวัด
เนื้อที่ 26 ไร่ 9 ตารางวา
เวลา เปิด-ปิด
8:00-17:00
ค่าเข้าชม
ไม่มีค่าใช้จ่าย
การเดินทางเข้าถึง
การเดินทางต้องใช้บริการเรือข้ามฟาก โดยสามารถจอดรถที่วัดกลางเกร็ด หรือบริเวณใต้สะพานพระราม 4
ช่องทางติดต่อวัด (website, Line, Tel)
Tel : 02-584-5120
สิ่งอำนวยความสะดวก
ห้องน้ำ ช/ญ : | ![]() |
ห้องน้ำคนพิการ : | ![]() |
ร้านอาหารและเครื่องดื่ม : | ![]() |
ตู้ ATM : | ![]() |
Internet Wifi : | ![]() |
พื้นที่จอดรถ : | ![]() |
ที่สูบบุหรี่ : | ![]() |
ทางลาดสำหรับรถเข็นคนพิการ : | ![]() |
กล้องวงจรปิด / รปภ. : | ![]() |
การนำสัตว์เลี้ยงเข้า : | อนุญาต เฉพาะพื้นที่กลางแจ้ง |
ที่เช่าวัตถุบูชา : | ![]() |
กิจกรรมสำคัญ
การห่มผ้าพระเจดีย์ 1 ปี มี 3 ครั้ง
- ครั้งที่ 1 หลังเทศกาลสงกรานต์
- ครั้งที่ 2 ช่วงเดือน 9 หรือเดือนสิงหาคม
- ครั้งที่ 3 ช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (ลอยกระทง)
บริการของวัด
- บรรพชาสามเณร/อุปสมบท
- งานสวดพระอภิธรรมศพ
- งานทำบุญประจำวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
วัดปรมัยยิกาวาส





53421


ประวัติความเป็นมา





วัดปรมัยยิกาวาส เป็นวัดโบราณ สร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ระหว่างพุทธศักราช 2310-2325 โดยชาวรามัญที่อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เกาะเกร็ด เรียกกันว่า วัดปากอ่าว อาจจะเพราะว่าวัดอยู่ตรงแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีคลองลัดเกร็ดแยกไหลลงมาทางทิศใต้พอดี
วัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเมื่อคนมอญอพยพมาอาศัยอยู่ที่เกาะเกร็ดนี้จึงได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้น ถือว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญของคนมอญ เคยเป็นที่สถิตของสังฆราชฝ่ายรามัญที่พระสุเมธาจารย์ด้วย คนมอญเรียกวัดนี้เป็นภาษามอญว่า “เพี๊ยมู่ฮะเติ้ง” ปัจจุบันวัดนี้ก็ยังเป็นที่รวมทำบุญในโอกาสสำคัญของคนมอญ เช่น วันทำบุญออกพรรษา เป็นต้น
ปีพุทธศักราช 2417 พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร ได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพร้อมด้วยพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร ถวายเครื่องสมณบริขารแด่พระสงฆ์และพระราชทานนามว่า วัดปรมัยยิกาวาส เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร
สิ่งสำคัญ
พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาลด 2 ชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีพาไลล้อมรอบ หน้าบันปูนปั้นตราพระเกี้ยว ซึ่งเป็นตราประจำของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซุ้มประตูและหน้าต่างลายปูนปั้น ผนังภายในมีภาพจิตรกรรม เล่าเรื่องพระพุทธประวัติ และธุดงควัตร 13 ตกแต่งภายในลายปูนปั้น ศิลปะตะวันออก เฉลียงปูด้วยศิลาขาว ศิลาดำ ลานพระอุโบสถปูศิลา รอบพระอุโบสถมีรั้วเหล็กนำมาจากยุโรปในสมัยรัชกาลที่ 5 ซุ้มเสมามีขนาดใหญ่ ฐานกว้าง 2 วา ทรงสี่เหลี่ยม ด้านหน้าพระอุโบสถมีคำจารึกหินอ่อนทั้งด้านขวาและด้านซ้ายของประตูพระอุโบสถ เป็นคำโคลงสี่สุภาพกล่าวถึงประวัติการบูรณะพระอาราม
พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี มีพระอัครสาวกซ้ายขวา/p>
พระมหารามัญเจดีย์ ลักษณะก่ออิฐถือปูน ทรงเจดีย์รามัญ ฐานกว้าง 5 วา 3 ศอก สูง 6 วา 2 ศอก เท่ากันทั้ง 4 ด้าน ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างเมื่อพุทธศักราช 2421 ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
พระเจดีย์ย่างกุ้ง ลักษณะก่ออิฐถือปูน อยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ
วิหารพระพุทธไสยาสน์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ลักษณะทรงไทย กว้าง 4 วา 2 ศอก 5 ห้อง เพดานเป็นภาพลายปฐมจุลจอมเกล้า หน้าบันเป็นปูนปั้นตราพระเกี้ยว ซึ่งเป็นตราประจำของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พื้นปูศิลา ระเบียงล้อมพระวิหารรูปทรงระเบียงฝรั่ง ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ พระเศียรอยู่ด้านทิศใต้ พระพักตร์หันไปด้านทิศตะวันออก ด้านหน้าพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนสีขาวแบบรามัญ ปางมารวิชัย ด้านหลังพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี ชื่อว่า พระนนทมุนินท์
พระนนทมุนินท์ เป็นพระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง 1 เมตร สูง 1.65 เมตร หล่อด้วยโลหะ พระศาสนโสภณ (อ่อน) เจ้าคณะมณฑลกรุงเทพสร้างเป็นพระพุทธรูปประจำเมืองนนทบุรี สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีพระยาราชสงคราม อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ด้านใต้พระวิหารพระพุทธไสยาสน์
พระเจดีย์มุเตา ตั้งอยู่บริเวณหัวแหลมของเกาะเกร็ด เป็นเจดีย์ทรงรามัญสีขาว มีผ้าแดงผูกบนยอดเจดีย์ ซึ่งกล่าวกันว่าผ้าแดง คือ สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของวัฒนธรรมรามัญ เป็นศิลปะแบบมอญแท้คือ พระเจดีย์ทรงมอญแท้เป็นพระเจดีย์จำลองมาจากหงสาวดี ก่อนที่จะถูกพม่าแต่งเติมจนทำให้พระเจดีย์มุเตาองค์ เดิมที่เมืองหงสาวดีกลายเป็นเจดีย์ทรงมอญผสมพม่าในปัจจุบัน พระเจดีย์มุเตา เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ฐานแปด เหลี่ยมย่อมุม ยอดเจดีย์มีฉัตรทรงเครื่อง 5 ชั้น อย่างมอญ สูง 1 วา ตั้งอยู่หัวมุมเกาะเกร็ด ทางราชการโดยกรม ศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ปี 2478 พระเจดีย์มุเตาสร้างโดยชาวมอญที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ปลายกรุงศรีอยุธยา อายุราว 300 ปี ภายในบรรจุพระธาตุเป็นที่เคารพสักการะ ของชาวไทยเชื้อสายมอญ เดิมเป็นเจดีย์ที่สร้างตั้งตรง ต่อมาน้ำเซาะตลิ่งพัง จึงทำให้เจดีย์ทรุดตัวและเอียงลงเมื่อ ประมาณปี พ.ศ. 2434 กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ปี 2478
ศาลารับเสด็จ ทรงมีพระราชศรัทธาโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดปรมัยยิกาวาส เพื่อสนองพระเดชพระคุณพระบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร ผู้ทรงอภิบาลสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชชนนีและพระองค์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์
พิพิธภัณฑ์วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร ตั้งอยู่ภายในวัดปรมัยยิกาวาส โดยมีอาคารสองชั้นซึ่งแต่เดิมเป็นกุฎิของอดีตเจ้าอาวาส สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอาคารจัดแสดง ชั้นล่าง หรือ หอไทยนิทัศน์เครื่องปั้นดินเผา ได้รับการสนับสนุนจาก สวทช. จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาเป็นหลัก โดยได้จำลองเตาเผาและหุ่นจำลองของช่างทำเครื่องปั้นดินเผาไว้ มีมุมฉายวีดิทัศน์เรื่องราวต่าง ๆ อาทิ ขนมไทยที่มีชื่อเสียงของเกาะเกร็ด พื้นที่ส่วนใหญ่ในอาคารจัดแสดง วิวัฒนาการของเครื่องปั้นดินเผาที่พบในประเทศไทย และมีตัวอย่างของเครื่องปั้นดินเผาในภาคต่าง ๆ จัดแสดงด้วย มุมหนึ่งจัดแสดงเครื่องใช้ไม้สอยในบ้าน ที่วางกองอยู่รวมกัน อาทิ พัดลมเก่า ตะเกียง หรือเครื่องใช้ ไม้ สอยในครัวเรือนจำพวกครก กระทะใบบัว กระต่ายขูดมะพร้าว เป็นต้น วันและเวลาทำการพิพิธภัณฑ์ เปิดจันทร์-ศุกร์ 13.00-16.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ 09.00-15.00 น.
ข้อมูลอ้างอิง
- กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (2551). พระอารามหลวง เล่ม 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
- หวน พินธุพันธุ์. (2547). ประวัติศาสตร์เมืองนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
- https://thailandtourismdirectory.go.th/attraction/3472
- http://www.dhammathai.org/watthai/dbview.php?No=55
- https://www.silpa-mag.com/history/article_6198
- https://thai.tourismthailand.org/Attraction/วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร
- https://www.kohkred-sao.go.th/public/list/data/detail/id/156/menu/1173/page/1