ข้อมูลทั่วไป
ชื่อวัด
วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร
สถานะ
พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร นิกาย : เถรวาท ฝ่ายมหานิกาย
ที่ตั้ง
เลขที่ 86 ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตำบลบางศรีเมือง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
เวลา เปิด-ปิด
8:00-17:00
ที่ดินตั้งวัด
เนื้อที่ 24 ไร่ 3 งาน 22 ตารางวา
เวลา เปิด-ปิด
24 ชั่วโมง
ค่าเข้าชม
ไม่มีค่าใช้จ่าย
การเดินทางเข้าถึง
ทางบก
- รถส่วนตัว สามารถใช้เส้นทางถนนบางศรีเมือง 1 เลี้ยวเข้าซอยวัดเฉลิมพระเกียรติ ประมาณ 1 กิโลเมตร สามารถจอดรถได้ภายในวัด
- รถสาธารณะ – ไม่มีรถสาธารณะเข้าถึงวัด
ทางน้ำ
- ไม่มีเรือโดยสารประจำทางจอดที่ท่าเรือของวัด
ช่องทางติดต่อวัด (website, Line, Tel)
https://www.facebook.com/
Tel : 02 881 6323
สิ่งอำนวยความสะดวก
ห้องน้ำ ช/ญ : | ![]() |
ห้องน้ำคนพิการ : | ![]() |
ร้านอาหารและเครื่องดื่ม : | ![]() |
ตู้ ATM : | ![]() |
Internet Wifi : | ![]() |
พื้นที่จอดรถ : | ![]() |
ที่สูบบุหรี่ : | ![]() |
ทางลาดสำหรับรถเข็นคนพิการ : | ![]() |
กล้องวงจรปิด / รปภ. : | ![]() |
การนำสัตว์เลี้ยงเข้า : | อนุญาต เฉพาะพื้นที่กลางแจ้ง |
ที่เช่าวัตถุบูชา : | ![]() |
กิจกรรมสำคัญ
- งานวัฒนธรรมสองฝั่งเจ้าพระยา มหาเจษฎาบดินทร์ ณ อุทยานเฉลิมกาญจนาภิเษก ตำบลบางศรีเมือง และบริเวณท่าน้ำนนท์ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
บริการของวัด
- บรรพชาสามเณร/อุปสมบท
- งานสวดพระอภิธรรมศพ
- งานทำบุญประจำวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
วัดเฉลิมพระเกียรติ





43251


ประวัติความเป็นมา





มูลเหตุแห่งการสร้างวัดเริ่มเมื่อ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในปี พ.ศ. 2367 นั้น พระองค์ทรงสถาปนาสมเด็จพระราชชนนีแห่งพระองค์ขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุลาไลยด้วย ต่อมาทรงพระราชดำริว่าบริเวณป้อมปราการ (ชื่อว่าป้อมทับทิม) ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ตลาดขวัญ เมืองนนทบุรี เป็นนิวาสถานเดิมแห่งพระอัยกา (ตา) พระอัยกี (ยาย) ของพระองค์ และยังเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระศรีสุลาไลยพระราชชนนีพันปีหลวง สมควรที่จะสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงสักแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่ พระอัยกา พระอัยกี และสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวงแห่งพระองค์ ด้วยเหตุนี้โปรดให้พระยาคลัง (ดิศ บุนนาค) ตำแหน่งที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กองสร้างวัดขึ้นในบริเวณนั้น และโปรดให้สร้างป้อมปราการก่ออิฐถือปูน มีใบเสมาเป็นทำนองเดียวกันกับพระ บรมมหาราชวังรอบวัดไว้เป็นอนุสรณ์ด้วย พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า วัดเฉลิมพระเกียรติ เมื่อ ปี พ.ศ. 2390 วัดเฉลิมพระเกียรติเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างขึ้นเป็นวัดสุดท้ายในรัชกาลก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2394 การสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติน่าจะยังไม่แล้วเสร็จในรัชกาลของพระองค์ เพราะเมื่อพระองค์ใกล้จะเสด็จสรรรคต พระองค์ก็ยังตรัสถึงวัดต่าง ๆ ที่ยังสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ค้างไว้ว่า " ...ทุกวันนี้คิดสละห่วงใหญ่ให้หมด อาลัยอยู่แต่วัด สร้างไว้ใหญ่โตหลายวัด ที่ยังค้างอยู่ก็ดี ถ้าชำรุดทรุดโทรมไปจะไม่มีผู้ช่วยทนุบำรุง เงินในพระคลังที่เหลือจับจ่ายใช้ราชการแผ่นดิน มีอยู่ 40,000 ชั่ง ขอสัก 1,000 ชั่งเถิด ถ้าผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินแล้วให้ช่วยบอกแก่เขาขอเงินรายนี้ให้ช่วยทนุบำรุง วัดที่ชำรุดและการวัดที่ยังค้างอยู่นั้น เสียให้แล้วด้วย..." เมื่อเป็นเช่นนี้ วัดเฉลิมพระเกียรติที่ยังสร้างค้างอยู่น่าจะเป็นวัดหนึ่งที่พระองค์ทรงห่วงใยด้วย ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว พระองค์ก็ทรงรับเป็นพระราชภาระในการสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติจนเสร็จเรียบร้อย โดยโปรดให้พระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุญนาค) เป็นแม่กองการบูรณะจนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2401 วัดเฉลิมพระเกียรติได้รับการคัดเลือกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของกรมการศาสนา ในปี พ.ศ. 2531 เป็นวัดอุทยานการศึกษากรมการศาสนา ปี พ.ศ. 2538 นอกจากนี้ภายในเขตพระอารามสงบ สะอาด ร่มรื่น มีศิลปะสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในวัดทั้งของเดิมและของใหม่มีความกลมกลืนกัน โดยอนุรักษ์รูปแบบเดิมไว้ วัดนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2536 จากสมาคมสถาปนิกสยาม
สิ่งสำคัญ
พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทยปนจีน เป็นศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 (คือ ศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากจีนมาผสม) หลังคาลด 2 ชั้น มุงกระเบื้องรางดินชนิดกาบกล้วย ถือปูนทับแนว ทำเป็นลอนลูกฟูกแบบจีน ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันด้านหน้าและด้านหลังประดับกระเบื้องเคลือบ สลับลวดลายใบดอกพุดตาน และกระจังฐานพระ ช่อฟ้า ลำยอง รวยระกา หัวนาค ทำด้วยกระเบื้องเคลือบสลับลายเช่นเดียวกัน มีกำแพงแก้วล้อมรอบอาคารทุกหลัง บานประตูและหน้าต่างภายนอกเขียนลายทองรดน้ำ ตอนบนเป็นรูปพระวิมาน พระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนล่างเป็นรูปกระต่ายอยู่ภายในวงพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งมีความหมายถึงน้ำของ พระอัยกีเพ็ง และพระอัยกาจัน ด้านในเป็นรูปเขียนสีรูปกอบัว ดอกบัว นก และสัตว์น้ำ ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นยกดอกเป็นดอกพุดตานล้อมรอบด้วยเบญจอาวุธ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 พุทธศักราช 2390) ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาในรัชกาลที่ 4 พุทธศักราช 2394
พระประธานในพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยทองแดงทั้งองค์ พระนามว่า พระพุทธมหาโลกาภินันทปฎิมา ขนาดหน้าตักกว้าง 6 ศอก สูง 8 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ขุดแร่ทองแดงที่อำเภอจันทึก จังหวัดนครราชสีมา ได้แร่ถลุงเป็นเนื้อทองแดงมาก พระองค์จึงมีพระราชประสงค์จะใช้ทองแดงนั้นให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระพุทธศาสนาก่อน จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอาราม
พระวิหารหลวง หรือเรียกกันว่า วิหารพระศิลาขาว อยู่ด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับพระอุโบสถ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน หลังคาลด 2 ชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ สร้างแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช 2394 ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปดอกไม้ร่วง โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปศิลาขาว ปางมารวิชัย จำหลักด้วยหินสีขาว ขนาดหน้าตักกว้าง 30 นิ้ว สูง 33 นิ้ว พร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้ายขวา ไปประดิษฐานเมื่อปีพุทธศักราช 2401
การเปรียญหลวง อยู่ทางทิศเหนือของพระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมแบบไทย หลังคาลด 2 ชั้น ประดับช่อฟ้า ใบละกา หางหงส์ ผนังภายในมีภาพจิตรกรรม และรอบเสามีภาพลายดอกไม้ร่วง ประดิษฐานพระพุทธรูป ปางมารวิชัย พระนามว่า พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ หรือเรียกว่า พระชัย ซึ่งหาชมได้ยาก
พระเจดีย์ อยู่ทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงกลม หรือทรงระฆัง เรียกกันว่าทรงลังกา เนื่องจากได้รับแบบอย่างมาจากลังกา พร้อมการเผยแพร่เข้ามาของพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ก่ออิฐถือปูน ฐานแปดเหลี่ยม 2 ชั้น กว้าง 30 เมตร สูง 45 เมตร มีกำแพงแก้วล้อมรอบ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 สำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ
กุฏิทรงไทย อยู่ด้านเหนือเขตพุทธาวาส เป็นเรือนไทยภาคกลางทรงมะนิลาใต้ถุนสูง มีความสวยงามบ่งบอกถึงความเป็นศิลปะไทย สร้างและจัดแผนผังอย่างมีระเบียบ
กำแพงแก้วและป้อมปราการ เป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน มีใบเสมาเหมือนกับกำแพงพระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีป้อมปราการทั้งสี่มุมซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
พระศรีมหาโพธิ์ ต้นโพธิ์พันธุ์พุทธคยาซึ่งได้มาสมัยรัชกาลที่ 4
ข้อมูลอ้างอิง
- กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (2551). พระอารามหลวง เล่ม 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่ง
- หวน พินธุพันธุ์. (2547). ประวัติศาสตร์เมืองนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
- https://www.travel2guide.com/วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร.html
- https://www.bangsrimuang.go.th/สถานที่น่าสนใจ/128
- https://mgronline.com/travel/detail/9660000050955