ข้อมูลทั่วไป

ชื่อวัด
วัดชลประทานรังสฤษดิ์

สถานะ
พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ นิกาย : มหานิกาย

ที่ตั้ง
เลขที่ 78/8 หมู่ที่ 1 ถนนติวานนท์ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

เวลา เปิด-ปิด
6:00-21:00

ที่ดินตั้งวัด
49 ไร่ 84.5 ตารางวา และที่ธรณีสงฆ์ 10 ไร่ 20.2 ตารางวา

เวลา เปิด-ปิด
8:00-17:00

ค่าเข้าชม
ไม่มีค่าใช้จ่าย

การเดินทางเข้าถึง
ทางบก
- รถส่วนตัว ใช้เส้นทางถนนติวานนท์ จากห้าแยกปากเกร็ดมุ่งหน้าแคราย วัดจะอยู่ทางซ้าย
- รถสาธารณะ  - รถโดยสารประจำทางสาย 32, 33, 63, 90, 104, 505
- รถไฟฟ้าสายสีชมพู ลงสถานีกรมชลประทาน
ทางน้ำ
- เรือด่วนเจ้าพระยา ธงสีส้ม ขึ้นท่าเรือวัดเขมาฯ

ช่องทางติดต่อวัด (website, Line, Tel)
https://www.watcholpratarn.org
Tel : 02-583-8847 (ทุกวัน เวลา 08.00 น.- 17.00 น.)
Fax :  02-584-5356
e-mail : [email protected]

สิ่งอำนวยความสะดวก

ห้องน้ำ ช/ญ :
ห้องน้ำคนพิการ :
ร้านอาหารและเครื่องดื่ม :
ตู้ ATM :
Internet Wifi :
พื้นที่จอดรถ :
ที่สูบบุหรี่ :
ทางลาดสำหรับรถเข็นคนพิการ :
กล้องวงจรปิด / รปภ. :
การนำสัตว์เลี้ยงเข้า : ไม่อนุญาต
ที่เช่าวัตถุบูชา :

กิจกรรมสำคัญ

กิจกรรมเผยแผ่ศาสนา

  • จัดให้มีการสอนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2503 จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2512 โดยใช้สถานที่โรงเรียนชลประทานสงเคราะห์ จนอาคารเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สร้างเสร็จใน ปี พ.ศ. 2527 จึงเปิดสอนในวัดชลประทานรังสฤษดิ์ มาจนถึงปัจจุบัน
  • จัดแสดงธรรมเทศนาทุกวันพระ
  • จัดให้มีการแสดงปาฐกถาธรรมทุกวันอาทิตย์ นับเป็นแห่งแรกของประเทศ โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) พิจารณาเห็นว่า ทางราชการไม่ได้กำหนดให้วันพระเป็นวันหยุด จึงได้จัดกิจกรรมแสดงปาฐกถาธรรม สวดมนต์ เจริญภาวนา ทำบุญตักบาตรในวันอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง ทำให้ประชาชนสนใจเข้าวัดศึกษาปฏิบัติธรรมมากขึ้นตามลำดับจนเป็นกิจกรรมสำคัญของวัดมาจนถึงปัจจุบัน
  • จัดให้มีสถานที่อบรมกรรมฐานและจัดปฏิบัติธรรมในวันหยุดสุดสัปดาห์และวันสำคัญทางศาสนา
  • จัดให้มีการแสดงธรรมทุกคืนของการสวดอภิธรรมศพและช่วงก่อนการฌาปนกิจหรือพระราชทานเพลิงศพ
  • จัดให้มีสื่อเผยแผ่หลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา เช่น หนังสือ เทปธรรมะ รวมถึงสื่ออื่นๆ
  • จัดพิธีบรรพชาอุปสมบทหมู่ ทุกเดือน บวชแล้วจะได้รับการอบรม แต่ละรุ่นต้องบวชไม่ต่ำกว่า 15 วัน

บริการของวัด

  • โครงการพุทธสาวกสาวิกา “หลักสูตรพัฒนาจิตตามหลักไตรสิกขา”
  • พิธีอุปสมบทประจำเดือน
  • โครงการธรรมะออนไลน์ผ่านสื่อ
  • งานฌาปนกิจ
  • หอมนุษยชาติ ดิจิทัลอัฐิ
  • งานมงคลสมรส
  • มีโรงทานสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม
  • ร้านมาแชร์บุญ จำหน่ายของที่ระลึก อาหารเพื่อสุขภาพ เครื่องสังฆทาน

วัดชลประทานรังสฤษดิ์

1
4
2
5
3
previous arrow
next arrow

ประวัติความเป็นมา

วัดชลประทานรังสฤษดิ์ สร้างโดยกรมชลประทาน เนื่องจากในพุทธศักราช 2496 กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยาขึ้น บริเวณอำเภอเมือง และอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท การก่อสร้างเขื่อนใหญ่แห่งนี้ จำเป็นต้องมีการตระเตรียมงานต่าง ๆ เช่น โรงงานที่จะผลิตซ่อมบำรุงเครื่องมือเครื่องจักร อู่เรือ ที่พักช่าง พนักงาน และคนงาน ตลอดจนคลังพัสดุ ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องสร้างท่าเทียบเรือติดแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ขึ้นลง โดยสร้างขึ้นที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินบริเวณตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด ตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี พุทธศักราช 2496 เพื่อเวนคืนที่ดินให้แก่กรมชลประทาน การเวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าว ได้ถูกที่ธรณีสงฆ์ของวัดเชิงท่า และวัดหน้าโบสถ์ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทานในครั้งนั้น ได้มอบหมายให้นายจรูญ แสงงำพาล เป็นนายช่างควบคุมโครงการก่อสร้างบ้านพักเจ้าหน้าที่และอาคารอื่น ๆ กรมชลประทานจึงขออนุญาตผ่านกรมการศาสนาถึงคณะสังฆมนตรี เพื่อพิจารณาถึงความจำเป็นเรื่องการเวนคืนที่ดินทั้งสองวัดให้แก่กรมชลประทาน และกรมชลประทานมอบที่ดินและสร้างวัดใหม่ทดแทน ซึ่งเป็นการผาติกรรมทดแทนการเข้าใช้ที่ดินของวัดเชิงท่าและวัดหน้าโบสถ์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ปากคลองบางตลาด (ปัจจุบันยังคงมีโบราณสถานเดิมของทั้งสองวัด เรียกรวมกันว่า “พุทธสถานเชิงท่า-หน้าโบสถ์”) เมื่อคณะสังฆมนตรีอนุญาต จึงเริ่มก่อสร้างวัดใหม่ในที่ดินของกรมชลประทานด้านทิศตะวันออกของถนนติวานนท์ โดยรวมวัดเชิงท่าและวัดหน้าโบสถ์ให้เป็นวัดเดียวกัน การย้ายวัดดำเนินการมาตั้งแต่พุทธศักราช 2499 ถึงปี พุทธศักราช 2502 จึงเสร็จเรียบร้อย กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศรวมวัดทั้งสองเป็นวัดเดียวกัน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พุทธศักราช 2503 โดยวัดที่สร้างขึ้นใหม่นี้ จะต้องอยู่ในความอุปการะของกรมชลประทาน อธิบดีกรมชลประทานจึงได้กราบทูลสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) วัดสระเกศ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เพื่อพิจารณาตั้งชื่อวัดขึ้นใหม่ จึงได้นำวัดใหม่ว่า “วัดชลประทานรังสฤษดิ์” แปลว่า “วัดที่กรมชลประทานสร้าง”

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พุทธศักราช 2503 ได้มีการทำพิธีเปิดวัด มอบถวายสังฆิกเสนาสนะ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้อ่านพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการย้ายวัด สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) วัดสระเกศ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประธานฝ่ายสงฆ์ ได้วางแผ่นศิลาฤกษ์ลงบนฐานชุกชีในอุโบสถ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ประธานฝ่ายฆราวาส ได้อัญเชิญพระประธานขึ้นประดิษฐานเหนือฐานชุกชีจากนั้น พระธรรมวิสุทธาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี ได้อ่านประกาศแต่งตั้ง พระปัญญานันทมุนี (ปัญญานันทภิกขุ) เป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2504 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 36 เมตร ยาว 51 เมตร ได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พุทธศักราช 2504 และได้รับยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พุทธศักราช 2555

สิ่งสำคัญ

พระอุโบสถ สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2499 เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ กว้าง 12.50 เมตร ยาว 30.40 เมตร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ประตูและหน้าต่างทำด้วยไม้แกะสลัก เป็นเครื่องหมายดวงตรากรมชลประทาน พื้นปูด้วยหินอ่อน หลังคาลด 3 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ประดับใบระกา หางหงส์ คันทวย หน้าบันประดับลายปูนปั้นรูปพระวรุณถือพระขรรค์ประทับยืนอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว เสด็จลีลามาบนหลังพญานาค ด้านข้างทั้งสองเป็นภาพพญานาคกำลังพ่นน้ำ ซึ่งถือเป็นตรากรมชลประทาน

พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิศิลปะประยุกต์ หล่อด้วยโลหะปิดทองคำเปลวทั้งองค์ ขนาดหน้าตักกว้าง 86 นิ้ว สูง 110 นิ้ว สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2499

ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2499 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก

อาคารปัญญานันทานุสรณ์ เป็นอาคาร 5 ชั้น สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ศิลปะแบบประยุกต์ สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2559-2562 เป็นอนุสรณ์แด่พระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ)
เป็นสถานที่รองรับ สถาบันปัญญาวิชชาลัย ศูนย์เรียนรู้พระพุทธศาสนาตามพุทธวิธีมี 5 ชั้น เรียงตามอินทรีย์ 5 หรือ พละ 5 ชั้นที่ 1 ศรัทธา : มุ่งให้ทุกคนรู้จักตนเอง ทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต มีห้องอเนกประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์ประสาน ชั้นที่ 2 วิริยะ : จัดเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมหมุนเวียน และศูนย์ประสานงาน หรือ สำนักงาน ชั้นที่ 3 สติ : ศูนย์เรียนรู้ชีวิตและงานหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เหมือนบ้านของพ่อ ที่ลูกๆ กลับมาเยี่ยมพ่อ กราบพ่อ มานั่งล้อมวงคุยกันถึงคำสอนของ พ่อ ยามที่คล้ายจะมืดมน ในหนทางชีวิต มาเติมพลัง บ้านหลังนี้มีธรรมะ ใครมีคำถามอะไร ค้นหาคำตอบได้ ชั้นที่ 4 สมาธิ : จัดเป็นห้องเกียรติยศ ห้องภาวนา ห้องสัมมนา ศึกษาเรียนรู้ชีวิต ทั้งในส่วนของ สุตมนปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา ชั้นที่ 5 ปัญญา : ร่วมใจรับพระบารมี ทั้งพุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพ ด้วยการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์จำลองจากวัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ 4 แผ่นดิน และอัฐิธาตุของพระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตตโร) ปัญญานันทภิกขุ

  • ลานหินโค้ง พื้นที่กลางแจ้ง สำหรับทำบุญ ทำกิจกรรมของวัด
  • โรงเรียนพุทธธรรม สำหรับปฏิบัติกรรมฐาน เนกขัมมะบารมี
  • อาคารอินเดียศึกษา สถานที่เรียนของพระนวกะ
  • ลานดวงตา สถานที่ประกอบพิธีอุปสมบทหมู่ทุกเดือน

ข้อมูลอ้างอิง

  • กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (2551). พระอารามหลวง เล่ม 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
  • หวน พินธุพันธุ์. (2547). ประวัติศาสตร์เมืองนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
  • https://thai.tourismthailand.org/Attraction/วัดชลประทานรังสฤษดิ์
  • https://urbancreature.co/wat-chonlapratan-rangsarit/